สองวีรบุรุษผู้เสียสละชีวิตเพื่อความเชื่อ น้อยสุริยะ-หนานชัย

-น้อยสุริยะ-หนานชัย-

“นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่”
ถือเป็นเมืองหลวงสำคัญของอาณาจักรล้านนา ซึ่งมีอารยธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เป็นดินแดนที่มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน งดงามน่าชื่นชม จากบรรพกาลจนถึงปัจจุบัน นครแห่งนี้ยังคงเป็นนครแห่งความมั่งคั่ง เป็นศูนย์กลางในหลายด้านของภูมิภาค มีเสน่ห์และแรงดึงดูดใจที่ประชากรโลกต้องมุ่งหมายที่จะมาเยี่ยมเยือน ด้วยเหตุผลนานัปการเบื้องต้น ส่งผลให้นครเชียงใหม่เป็นจังหวัดอันดับสองของประเทศไทยและมีเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มากมายที่สมควรจารึกไว้ในแผ่นดิน คริสต์ศาสนาถือเป็นศาสนาประเภทเทวนิยมที่มีผู้นับถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมากที่สุดในโลก โดยครึ่งหนึ่งของประชากรโลกล้วนแล้วแต่เชื่อศรัทธาในคริสต์ศาสนาอย่างท้าทายกระแสโลกาภิวัฒน์และเมื่อ 140 ปี ล่วงแล้วคริสต์ศาสนาโปเตสแตนท์จากอเมริกา ได้เข้ามาเผยแพร่ในดินแดนเชียงใหม่ล้านนาเป็นครั้งแรกด้วยความเชื่อในพระคริสตธรรมคัมภีร์หรือไบเบิลข้อพระคัมภีร์ มัทธิว บทที่ 24 ข้อที่ 14 ความว่า “ข่าวประเสริฐเรื่องแผ่นดินของพระเจ้าจะได้ประกาศไปทั่วโลกให้เป็นคำพยานแก่บรรดาประชาชาติแล้วที่สุดปลายจะมาถึง..” การประกาศเผยแพร่คริสตศาสนาในเชียงใหม่ เริ่มขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มหาราช (ร.๕) เมื่อเจ้ากาวิโรรสหรือ " เจ้าหลวงเชียงใหม่ " หรือที่ชาวบ้านเรียกโดยทั่วไปว่า “ เจ้าชีวิตอ้าว” ซึ่งสมนามนี้ ได้มาจากความที่เด็ดขาด เอาจริงเอาจังและมีความห้าวหาญ ในการปกครองบ้านเมือง นั่นเอง กล่าวคือในการซักไซ้ไล่เลียง ไต่สวนจำเลยในคดีอุกฉกรรจ์ บางคดี ถ้าหากเจ้าหลวงเปล่งวาจาออกมาว่า “อ้าว” เพียงคำเดียวเท่านั้น หมายความว่าจำเลยผู้นั้นจะต้องรับโทษ ประหารชีวิตสถานเดียวไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกาใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหลวงเชียงใหม่ กับศาสนฑูตดาเนียล แมคกิลวารี มีมาก่อนหน้านั้น โดยเจ้าหลวงได้เดินทางลงไปกรุงเทพ ฯ เพื่อถวายเครื่องราชบรรณาการแด่พระมหากษัตริย์ และได้พบศาสนฑูตดาเนียล แมคกิลวารี และคณะมิชชันนารี ที่นั่น จากนั้นเจ้าหลวงเชียงใหม่กับคณะฑูตก็มีความรู้จัก สนิมสนมกันยิ่งขึ้น ศาสนฑูตแมคกิลวารี จึงขออนุญาตเดินทางมาเผยแพร่ศาสนสถานที่เชียงใหม่ และรักษาโรคแก่คนพื้นเมือง ซึ่งก็ได้รับอนุญาต และการรับรองอย่างดียิ่ง จากเจ้าหลวงเชียงใหม่ซึ่งหนึ่งในเหตุผลของเจ้าหลวงเจ้าเชียงใหม่ก็คือ การที่เห็นว่า คณะมิชชันนารี ได้รับเกียรติสูงเป็นอย่างมากจากพระเจ้าแผ่นดิน เช่น การได้รับเชิญไปในงานพระราชพิธีสำคัญต่างๆ เป็นประจำและสามารถเข้าออกพระราชวังได้ เพื่อสอนหนังสือ และรักษาโรค แก่พระประยูรญาติอีกด้วย จากนั้น ศาสนฑูตแมคกิลวารี ก็ได้เดินทางมายังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับภรรยา และบุตรอีก 2 คน โดยการนั่งเรือออกมาจากกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 3 มกราคม 2410 และถึงในวันที่ 3 เมษายน 2410 เป็นเวลา91 วัน ซึ่งชาวเชียงใหม่ก็ได้ต้อนรับ และเจ้าหลวงเชียงใหม่ได้ให้ที่ดิน รวมทั้งปลูกบ้านพักให้ได้อยู่อาศัย อีกทั้งเป็นศาลาสำหรับรักษาคนไข้ และศูนย์เผยแพร่ศาสนา อยู่มาไม่นาน ทั้งศาสนฑูต แมคกิลวารี ภรรยาและลูก ๆ ก็เป็นที่รักของคนเชียงใหม่ เพราะความโอบอ้อม อารีและได้รักษาโรคภัยต่าง ๆ เช่น การรักษาไข้จับสั่น ซึ่งเป็นโรคที่ร้ายแรงมาก หากใครในสมัยนั้นเป็น โรคนี้ มักจะถึงแก่ความตาย อย่างรวดเร็ว ในแต่ละปีจะมีคนล้มตาย ด้วยโรคนี้หลายร้อยคน พวกชาวบ้าน ก็เชื่อกันว่าผีห่ามาเอาชีวิตของตนไป ชาวเมืองเชียงใหม่ ได้เรียกชื่อของมิชชันนารีทั้งสองว่า “พ่อครูหลวง” และ "แม่ครูหลวง” ซึ่งเป็นการให้เกียรติอย่างยิ่ง หลังจากที่พ่อครูหลวงพาครอบครัวมาอยู่เชียงใหม่ได้ 1 ปี ศาสนฑูตโจนาธาน วิลสัน และครอบครัวก็ได้เดินทางจากกรุงเทพ ฯ เพื่อมาช่วยงานของพ่อครูหลวงและ แม่ครูหลวงและงานก็มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ยิ่งนานวันเข้าชาวเมืองยิ่งได้กล่าวขวัญ ถึงคุณงามความดีของพ่อครูหลวง และแม่ครูหลวงกันมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นขวัญใจชาวเมืองเชียงใหม่ ทำให้เจ้าหลวงเชียงใหม่เกิดความรู้สึกไม่พอใจยิ่งนัก แต่ก็ยังเก็บอารมณ์ไม่แสดงออกแต่อย่างใด ในระยะเวลา 2 ปี จากการประกาศของมิชชันนารีทั้งสองครอบครัวได้บังเกิดผลดีขึ้นโดยมีผู้เข้ามารับ ความเชื่อและรับบับติสมา เป็น คริสเตียน 7 คน ดังนี้
���� 1. หนานอินต๊ะ ต้นตระกูล อินทะพันธ์ เข้ารับบัพติสมาเมื่อ วันที่ 3 มกราคม 2412
���� 2. น้อยสุริยะ หมอพื้นเมือง และเป็นคนดูแลโคของเจ้าหลวงเชียงใหม่
���� 3. นายบุญมา คนรับใช้หลานชายเจ้าหลวงเชียงใหม่
���� 4. แสนญาวิชัย ลูกน้องเจ้าเมืองลำพูน
���� 5. หนานชัย อดีตมัคทายก และเป็นลูกน้องของเจ้าหลวงเชียงใหม่
���� 6. ปู่ส่าง ชาวเงี้ยว
���� 7. น้อยคันธา ชาวบ้านธรรมดา
         
        จากการที่มีคนเข้ามาเป็นคริสเตียน โดยเฉพาะน้อยสุริยะและหนานชัย ซึ่งเป็นลูกน้องของเจ้าหลวง ทำให้เจ้าหลวงเชียงใหม่ไม่พอใจยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมและไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ชาวบ้าน จึงได้สั่งการให้นำน้อยสุริยะและหนานชัยไปประหารชีวิต โดยข้อหา การละทิ้งพระพุทธศาสนาเข้ามาเป็น คริสเตียน ซึ่งทั้งสองก็ยอมรับแต่โดยดี

����รุ่งเช้าวันอังคารที่ 14 กันยายน 2412 ซึ่งเป็นวันประวัติศาสตร์สำคัญวันหนึ่งของคริสเตียนไทย เพชฌฆาตได้นำตัวทั้งสองคนนี้ไปในป่าหนามเล็บแมวนอกหมู่บ้าน บังคับให้คุกเข่าลง หนานชัยได้อธิษฐานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า "พระเยซูเจ้าข้า โปรดรับวิญญาณของข้าพเจ้า รับวิญญาณของ ข้าพเจ้าด้วยเถิด อาเมน " ภาพอันน่าสลดใจนี้ทำให้บรรดาผู้ประหารถึงกับน้ำตาตก เพชฌฆาตได้นำขื่อคา ที่ใส่คอและมือทั้งสองคนออก ซึ่งขื่อคานี้ ถูกสวมไว้ตั้งแต่บ่ายวันวาน นับเป็นเวลา 20 ชั่วโมงที่ต้องทน ทุกข์อยู่กับขื่อคานี้
����เพชฌฆาตย่างเข้ามาพร้อมกับตะบองใหญ่ หนานชัยได้ถูกตีที่คาง 1 ที ร่างซบลงดินเสียชีวิตลงในทันที ส่วนน้อยสุริยะ ถูกตีใต้คาง 6 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ตาย เพชฌฆาตจึงเอาหอกแทงทวารหนัก แทงซ้ำที่หน้าอก ทะลุหัวใจ เลือดไหลอาบทั่วร่าง
����จากการประหารชีวิตนี้ เจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ห้ามใครแพร่งพรายหากใครฝ่าฝืนก็จะมีโทษเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งห้ามบอกแก่มิชชันนารีเป็นอันขาด จน 2 สัปดาห์ให้หลังพ่อครูหลวงจึงได้รู้เรื่องราวการประหารชีวิต จากนั้นชีวิตการเป็นอยู่ของมิชชันนารีก็ตกอยู่ในในสภาวะมืดมนอย่างที่สุด ไม่มีใครให้พึ่งพาได้ ชาวบ้านก็ไม่กล้าเข้ามาหาซึ่งกลัวจะโดนอาญาจากเจ้าหลวงนั่นเอง พ่อครูหลวงได้เขียนจดหมายและบันทึกเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เกิดขึ้น หมายจะส่งข่าวไปให้คณะมิชชันนารีที่กรุงเทพ ฯ ทราบ แต่ก็ไม่มีผู้ใดไปส่งจดหมายให้ แต่มีชาวพม่าคนหนึ่งซึ่งเป็นคนกว้างขวางและมีอิทธิพลมากในจังหวัดเชียงใหม่ รู้เหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับมิสชันนารี จึงแสดงความเอื้อเฟื้อจะนำจดหมายไปที่กรุงเทพฯให้ จนกระทั่ง 2 – 3 เดือน ต่อมา มิชชันนารีทางกรุงเทพ ฯ จึงได้รับข่าวและได้เข้าทูลเรื่องราวต่าง ๆ ต่อพระเจ้าแผ่นดิน กระทั่งวันที่ 26 พฤศจิกายน 2412 พระเจ้าแผ่นดิน ได้โปรดเกล้าให้ข้าหลวงได้นำพระราชสาสน์มาถึง เจ้าหลวงเชียงใหม่ ความว่า “ข้าพเจ้าพระยาเทพวรชุน ที่ปรึกษาราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าหลวงใหญ่ ซึ่งสำเร็จราชการเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูน ประกาศไว้ให้เจ้านายผู้ใหญ่ผู้น้อย พระยาลาวท้าวแสนแลราษฎรในเมืองนครเชียงใหม่ เมืองนครลำปาง เมืองลำพูนทราบทั่วกันว่า มีตราราชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ขึ้นมาถึงข้าพเจ้าฉบับหนึ่งในความว่า มิสเตอร์เดวิด บี ชิคเกิล กงสุลอเมริกัน มีจดหมายมายังเจ้าพนักงานกรมท่าว่า หมอแมคกิลวารี หมอชิค ซึ่งอยู่ ณ นครเชียงใหม่ มีจดหมายไปถึงกงสุลอเมริกันว่า คนที่ถือศาสนาพระเยซูแล้วนั้น จะทำการสิ่งใดมีผู้ขัดขวาง ไม่ให้ทำตามภาษาบ้านเมืองตามที่เคยถือมาแต่ก่อน เจ้าพนักงานได้นำความขึ้นกราบบังคมทูล แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงมีพระราชโองการมาพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า การศาสนานั้นไม่เป็นที่ขัดขวางสิ่งใดในราชการแผ่นดิน ผู้ใดเห็นว่าศาสนาใดจะถูกต้องก็ถือตามชอบใจ เมื่อมีราชการบ้านเมืองต้องใช้ผู้ที่ถือศาสนาพระเยซูนั้นก็ใช้ได้ ศาสนาหาเป็นที่ขัดขวางห้ามปรามในราชการไม่ แต่นี้สืบไป ถ้าผู้ใดจะชอบใจถือศาสนาใด ก็ให้ผู้นั้นถือตามชอบ อย่าให้เจ้านายพระยาลาวท้าวแสนแลราษฎร ซึ่งเป็นญาติพี่น้องและมูลนายของผู้ที่ถือศาสนาพระเยซูนั้น ขัดขวางห้ามปรามการสิ่งใดซึ่งศาสนาพระเยซูห้ามไม่ให้ถือ ไม่ให้ทำ คือ ไหว้ผีเลี้ยงผี ทำการงานต่างๆในวันอาทิตย์ ก็อย่าให้กดขี่บังคับ ให้ถือ ให้ทำเป็นอันขาด เว้นเสียแต่เป็นการศึกสงคราม และเป็นการสำคัญจำจะต้องใช้ผู้นั้นในวันอาทิตย์ก็ใช้ได้ แต่อย่าให้เป็นการแกล้งประการหนึ่ง ถ้าคนที่จะทำมาหากินเป็นลูกจ้างคนอเมริกันจ้างใช้สอยงาน ก็อย่าให้เจ้านายพระยาลาวท้าวแสนขัดขวางห้ามปราม ให้เป็นที่หมองหมางแก่พระราชไมตรีได้ ถ้าเจ้านายพระยาลาวท้าวแสนและราษฎรรู้หนังสือแล้ว อย่ากระทำให้ล่วงประกาศไปแต่ข้อหนึ่งข้อใดได้เป็นอันขาด” ซึ่งข้อความในพระราชสาสน์นั้นเจ้าเมืองเชียงใหม่ได้อ่านและพูดออกมาอย่างโล่งอกว่า “ไม่เห็นมีข้อความอะไรมากนักนอกจากอนุญาตให้มิชชันนารีจะอยู่หรือจะไปก็ได้ตามใจ” ทั้งนี้เนื่องจากพระราชสาสน์นั้นมิได้กล่าวถึงการประหารชีวิตคริสเตียนน้อยสุริยะ-หนานชัย และได้มีการเปิดอ่านที่ท้องพระโรงในคุ้มหลวง (บริเวณโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย) ในขณะที่อยู่ในท้องพระโรงก็มีการปราศรัยกัน ระหว่างศาสนฑูตแมคกิลวารี หรือพ่อครูหลวง กับเจ้าหลวงเชียงใหม่ ได้มีการกล่าวถึงการประหารชีวิตคริสเตียนทั้งสอง และการโต้เถียงกันรุนแรง โดยที่เจ้าหลวงได้บอกว่า การประหารชีวิตทั้งสองคน เนื่องจากเป็นการที่เขาทั้งสองละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ๆ เจ้าหลวงมอบหมาย เช่น การปฏิเสธมีส่วนร่วมในงานต่าง ๆ ในวันอาทิตย์ เมื่อเป็นเช่นนี้เจ้าหลวงจึงสามารถสั่งลงโทษได้
����แต่พ่อครูหลวงได้โต้ไปว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เหตุที่ต้องประหารเพราะว่าทั้งสองคนนั้นเข้ามาเป็น คริสเตียน ด้วยความโกรธเจ้าหลวงจึงยอมรับว่า ที่สั่งประหารชีวิตเพราะเขาทั้งสองเป็นคริสเตียนและจะประหารคนที่เข้ารีตเป็นคริสเตียนอีกทุกราย
�หากมิชชันนารีจะอยู่ต่อก็อยู่ได้ สามารถรักษาพยาบาลคนป่วยได้ แต่ห้ามมีการเผยแพร่หรือสอนศาสนาคริสต์โดยเด็ดขาด ถ้าขัดขืนจะไล่ออกเสียจากเมืองเชียงใหม่
����จากเหตุการณ์นี้ข้าหลวงที่นำพระราชสาสน์มาก็เป็นห่วงความปลอดภัยของมิชชันนารี ทั้ง 2 ครอบครัวยิ่งนัก ต้องการให้ย้ายเข้าไปอยู่กรุงเทพ ฯ เพื่อความปลอดภัย หลังจากที่ได้ตกลง ศาสนฑูตโจนาธาน วิลสัน ได้ย้ายไป ที่จังหวัดตาก และปฏิบัติพันธกิจที่นั่น ส่วนพ่อครูหลวงแมคกิลวารียังยืนยัน จะอยู่เชียงใหม่ เพราะได้รับการดูแลจาก เจ้าหลวงเป็นที่ดีต่อกัน ฉะนั้น เมื่อต้องจากกัน ก็ควรจะจากกันด้วย ความเป็นมิตร หาใช่จากกันด้วยการเป็นศัตรู
����หลังจากที่ตกลงกันแล้ว พ่อครูหลวงได้เข้าไปหาเจ้าหลวงเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น และกล่าวแก่เจ้าหลวงว่า มิชชันนารีมาอยู่เชียงใหม่ได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากเจ้าหลวงและชาวเชียงใหม่ เป็นมิตรที่ดีต่อกัน ฉะนั้นเมื่อต้องจากกันก็ควรจากกันด้วยความเป็นมิตร ไม่ใช่ไปอย่างศัตรู เมื่อโดน คำพูดที่ตรงไปตรงมา อย่างจริงจัง ของพ่อครูหลวง เช่นนี้ เจ้าหลวงจึงต้องยอมรับ และยอมจำนนต่อเหตุผลต่างๆ ที่พ่อครูหลวง กล่าวมาทุกประการ และยอมผ่อนปรนให้พ่อครูหลวง โดยบอกว่า เจ้าหลวงต้องเดินทางไป กรุงเทพ ฯ อาจใช้เวลาซัก 6 เดือน จึงกลับ จะให้พ่อครูหลวงอยู่เชียงใหม่ต่อจนกว่าเจ้าหลวงจะกลับมาแล้ว จึงไปจากเชียงใหม่ เป็นอันว่ามิชชันนารี ได้อยู่ทำงานของพระเจ้าอีก 6 เดือนที่เชียงใหม่ และเป็นการเรียกขวัญเสียของชาวบ้านให้กลับคืนมาอีกด้วย
����กาลเวลาผ่านไป เจ้าหลวงได้เดินทางกลับมายังเชียงใหม่ มิชชันนารีทั้งสองมีความกังวลใจยิ่งนัก ที่จะต้องออกจากเชียงใหม่ แต่ในระหว่างการเดินทางก่อนถึงเชียงใหม่ เจ้าหลวงเชียงใหม่ได้ล้มป่วยอย่างกระทันหันและได้เสียชีวิตขณะอยู่บนแคร่หามระหว่างทางจากลำพูน มาเชียงใหม่
����จากนั้นมา เจ้าอินทนนท์ ผู้เป็นบุตรเขยของเจ้ากาวิโรรสได้ขึ้นครองเมืองเชียงใหม่ต่อไป และได้ให้คำสัญญาว่าจะให้พ่อครูหลวงและมิชชันนารีอยู่ในเชียงใหม่ ต่อไป โดยไม่ถูกขัดขวางใด ๆ ทั้งสิ้นด้วยความยินดี
����ศาสนฑูต ดาเนียล แมคกิลวารี หรือ พ่อครูหลวง จึงมีโอกาสทำงานรับใช้พระเจ้าที่เชียงใหม่ต่อไปอีก 41 ปี และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2454 อายุ 83 ปี ส่วนแม่ครูหลวง ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ 5 กรกฏาคม 2466 อายุได้ 84 ปี ศพของพ่อครู และแม่ครูหลวง ได้ฝังไว้เคียงข้างกัน ที่สุสานนานาชาติ บ้านเด่นเชียงใหม่
����หากน้อยสุริยะและหนานชัยไม่เสียสละชีวิตเพื่อความเชื่อ คงไม่มีพระราชสาสน์และพระมหากรุณาธิคุณจากล้นเกล้าฯรัชกาลที่ ๕ และหากพ่อครูหลวงไม่ได้ตัดสินใจไปพบเจ้าหลวงที่คุ้มหลวงเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2412 �เพื่อปรับความเข้าใจกันแล้ว พ่อครูหลวงและมิชชันนารีทุกคนก็ต้องย้ายออกไปจากจังหวัดเชียงใหม่ ตามแรงกดดันของเจ้าหลวงเชียงใหม่ บัดนี้ประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่คงไม่เป็นอย่างทุกวันนี้ และคริสเตียนอาจได้สูญหายไปจากเชียงใหม่ ก็ได้
����เมื่อคริสตชนพูดถึง "บิดาแห่งความเชื่อ" นั้นหมายถึงอับราฮาม แต่เมื่อคริสตจักรพูดถึง “วีรชน แห่งความเชื่อ” (The martyr)หมายถึงผู้เชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์อย่างเหนียวแน่นแม้จะถูกข่มขู่ข่มเหงดูหมิ่นเหยียดหยามทำร้ายทำลายในรูปแบบต่างๆก็หาปฏิเสธพระเยซูคริสต์หรือละทิ้งความเชื่อวางใจในพระองค์ไม่แต่พร้อมที่จะทนทุกข์และตายในความเชื่อนี้
����วีรชนแห่งความเชื่อเต็มใจเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่และเป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็นหน้าตา ชื่อเสียง เกียรติยศ ตำแหน่ง อำนาจ อาชีพ ทรัพย์สินเงินทอง แม้กระทั่งชีวิต เพื่อจะได้มาซึ่ง “ชีวิตนิรันดร์ พระวจนะ ของพระเจ้าได้บรรยายถึงเหตุร้ายที่เกิดขึ้นกับวีรชนแห่งความเชื่อว่า “บางคนก็ถูกทรมาน บางคนต้องทนต่อคำเยาะเย้ย และการถูกโบยตี และยังถูกล่ามโซ่ และถูกขังคุกด้วย บางคนก็ถูกขว้างด้วยก้อนหิน บางคนก็ถูกเลื่อยเป็นท่อนๆ บางคนก็ถูกฆ่าด้วยคมดาบ บางคนก็นุ่งห่มหนังแกะ หนังแพะพเนจรไป สิ้นเนื้อประดาตัว ตกระกำลำบาก และถูกเคี่ยวเข็ญ เขาพเนจรไปในถิ่นทุรกันดารและตาม ภูเขา และอยู่ตามถ้ำ และตามโพรง คนเหล่านั้น ทุกคนมีชื่อเสียงดี เพราะความเชื่อของเขา” (ฮีบรู 11:35ข-39) วีรชนแห่งความเชื่อต้องพร้อมเผชิญสิ่งดังกล่าวทุกเวลา วีรชนแห่งความเชื่อคนแรกของคริสตจักรที่หนึ่งเยรูซาเล็มนั้นคือ “สเทเฟน” ผู้ประกอบด้วยความเชื่อและ พระวิญญาณบริสุทธิ์ ได้รับเลือกและเจิมเป็นมัคนายกของคริสตจักร วีรชนแห่งความเชื่อของคริสตจักรที่หนึ่งเชียงใหม่ชื่อน้อยสุริยะและหนานชัย ซึ่งถูกประหารชีวิตโดย คำสั่งของ “เจ้ากาวิโรรส สุริยวงค์” หรือ “เจ้าชีวิตอ้าว” หรือที่ชาวเมืองเรียกกันทั่วไปว่า “เจ้าหลวงเชียงใหม่” ผู้ครองนครเชียงใหม่ในสมัยนั้น ทั้งสองถูกประหารชีวิตที่ ป่าหนามเล็บแมว บ้านแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 1869 (พุทธศักราช 2412) • แม้ความตายของสเทเฟนวีรชนแห่งความเชื่อจะนำความเศร้าสลดใจสู่สมาชิก คริสตจักรที่หนึ่งเยรูซาเล็ม แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นพระพรและเป็นความยินดีด้วยคือ มีผู้นำใหม่ที่มีคุณธรรม คุณวุฒิ และคุณภาพเกิดขึ้น คือ ท่านอาจารย์เปาโล จากการเป็นผู้ต่อต้านพระเยซูคริสต์และทำลายพระกิตติคุณ ได้กลายมาเป็นผู้ติดตามพระเยซูคริสต์อย่างสัตย์ซื่อ และประกาศพระกิตติคุณอย่างกล้าหาญและกว้างไกล • มีการขยายตัวและเติบโตของ คริสตจักรไปยังแคว้นยูเดีย สะมาเรีย และ ทั่วทั้งโลก เช่นเดียวกันกับความตายของน้อยสุริยะและหนานชัย วีรชนแห่งความเชื่อของคริสตจักรที่หนึ่งเชียงใหม่ นอกจากจะนำความเศร้าใจและตกใจมาสู่ครอบครัวมิชชันนารี และความกลัวสู่ครอบครัวของวีรชนและผู้เลื่อมใสศรัทธาแล้วยังนำความยินดีมาด้วยคือ มีผู้นำคริสตจักร ชาวเชียงใหม่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นศิษยาภิบาลไทยคนแรกของคริสตจักร คือ ศาสนาจารย์นันตา และ • มีเสรีภาพในการนับถือศาสนา โดยรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรีได้ออก พระบรมราชโองการ ไปยังหัวเมืองในอาณาจักรล้านนาให้คนล้านนา มีเสรีภาพเชื่อวางใจในพระเยซูคริสต์ และรับการคุ้มครอง ผลดีเกิดขึ้นคือการประกาศพระกิตติคุณขยายสู่คนในเมืองต่างๆ ในล้านนา และมีคนเชื่อมากขึ้น
����วีรชนแห่งความเชื่อยอมพลีชีวิตเพราะพระเยซูคริสต์ผู้เป็นขึ้นมาจากความตายซึ่งเป็นหัวใจของความเชื่อคริสเตียนนั้นทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ที่มาช่วยกู้ชาวโลกให้รอดพ้นจากความบาปเข้าสู่ความชอบธรรม และพ้น จากการพิพากษาแล้วนำเข้าแผ่นดินสวรรค์ พระเยซูทรงพระชนม์อยู่เป็นนิตย์ โดยสถิตอยู่กับบรรดาผู้เชื่อวางใจในพระองค์ในรูปลักษณ์ของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (1โครินธ์ 3:16,6:9) ด้วยเหตุนี้วีรชนแห่งความเชื่อจึงพูดอย่าง มั่นใจในฤทธิ์เดชของพระเจ้าว่า “ถ้าเช่นนั้น เราจะว่าอย่างไร ถ้าพระเจ้าทรงอยู่ฝ่ายเรา ใครจะขัดขวางเรา” (โรม 8:31)

Cr.VCHARKARN.COM

ความคิดเห็น

  1. ลูกหนานชัยชื่อท้าวพรหมมินทร์ ต้นตระกูล อินทจักร์ หนีภัยไปไปอยู่บ้านต้นแหน เมียชื่อคำบุ ลูกชื่อจันทร์แต่งกับขุนเปาเปรมประชาตระกูลไชยซาววงค์ น้อยแก้ว บ้านบวกเป็ด ทองคำบ้านสันเจ้างาม อุ้ยทาลูกหล้าเป็นเมียขุนเปาอีกคน ลูกอุ้ยทา ทำตลาดอุ้ยทาและศุนย์หัตรกรรมทำร่มบ่อสร้างสืบสานงานขุนเปา ตาแก้วเล่าให้ผมฟังตั้งแต่เด็กๆ ผมนับว่าเป็นรุ่นลื้อ(โหลน)ตอนนี้อายุ๗๑ ครับ

    ตอบลบ
  2. อ่านแล้วน้ำตาไหล ขอบคุณบรรพบุรุษ ขอบคุณพระเจ้า

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม